การวางแผนการผลิต



การวางแผนการผลิต (Production Planning)
การวางแผนการผลิต เป็นการวางแผนในการจัดการปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น แรงงาน เครื่องจักร วัตถุดิบ กระบวนการผลิต หรือ 4M (Man, Machine, Machine, Method) เพื่อให้ผลการผลิตบรรลุตามเป้าหมายที่ถูกกำหนดไว้โดยความต้องการของลูกค้า (Customer Demand) ซึ่งความต้องการของลูกค้านั้นอาจเกิดจากการสั่งซื้อจริงที่เกิดขึ้นแล้ว และการพยากรณ์ความต้องการที่จะซื้อสินค้าในอนาคตตามช่วงเสลาต่างๆ.
การวางแผนการผลิตมีทั้งแผนการผลิตระยะสั้น และแผนการผลิตระยะยาว โดยแผนการผลิตในระยะยาวส่วนมากจะเป็นไปในลักษณะของการลงทุนเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคต เช่น การวางแผนการสร้างหรือการขยายโรงงาน, การซื้อเครื่องจักร, การวางแผนด้านบุคลากร แผนการผลิตในระยะยาวนี้ส่วนมากจะมีระยะเวลาเกิน 1 ปีขึ้นไป (ประมาณ 3 – 5 ปี) โดยจะเน้นไปที่การเพิ่มกำลังการผลิตและการขยายกิจการ.
ส่วนแผนการผลิตในระยะสั้น จะเป็นการวางแผนการผลิตตามช่วงเวลาต่างๆ ภายใน 12 เดือน เช่น แผนการผลิตประจำวัน, แผนการผลิตประจำสัปดาห์, แผนการผลิตประจำเดือน, แผนการผลิตประจำปี เป็นต้น. การวางแผนการผลิตระยะสั้นนี้จะมีการกำหนดเป้าหมายที่จัดเจน ซึ่งเป้าหมายนี้จะถูกคำนวณจากกำลังการผลิตที่มีอยู่. การวางแผนการผลิตจะทำควบคู่ไปกับการควบคุมการผลิตเพื่อที่จะเผ้าติดตามและควบคุมสถานะและระดับของการผลิตให้ยังคงอยู่ในแผนการทำผลิตตามระยะเวลา.

ชนิดของการวางแผนการผลิต
ชนิดของแผนการผลิตะจะถูกปรับเปลี่ยนตามลักษณะของการผลิตและผลิตภัณฑ์ โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

1.แผนการผลิตตามคำสั่ง (Job Order Production Planning)
แผนการผลิตแบบตามสั่ง ผลิตภัณฑ์มักจะมีความหลากหลายชนิด มีจำนวนการผลิตต่อครั้งน้อย ดังนั้นเครื่องจักรที่จะทำการผลิตต้องมีความยืดหยุ่นสูง สามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายขวนการการ เช่น เครื่องกลึง CNC, เครื่อง Machining Center เป็นต้น รวมถึงวิธีการการผลิตต้องอาศัยทักษะของผู้ปฏิบัติงานที่สูงด้วยเช่นกัน  เนื่องจากหลายๆ ครั้งที่พบว่าเป็นงาน Special ที่ไม่ค่อยมีการผลิตและมีการเปลี่ยนแปลงการออกแบบใหม่ๆ อยู่เสมอ.
การวางแผนการผลิตแบบตามสั่งนี้ความยากจะอยู่ที่กระบวนการผลิตที่ค่อนข้างซับซ้อนและระยะเวลาในการผลิตที่ไม่ค่อยแน่นอน บางครั้งผลิตภัณฑ์ 1 ชิ้น ต้องระยะเวลาในการผลิตหลายๆ วันหรือเป็นเดือน แต่ก็มีข้อดีคือชิ้นงานค่อนข้างที่จะมีราคาสูง ถ้าสามารถผลิตชิ้นงานได้เสร็จทันตามกำหนดเวลาตามที่วางแผนไว้ไม่มีงานเสียเกิดขึ้นผลกำไรที่ตามมาค่อนข้างที่จะสูงด้วยเช่นกัน.
การวางแผนการผลิตแบบตามสั่งที่แม่นยำนั้นควรจะต้องได้รับความร่วมมือจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะหน่วยงานด้านเทคนิคและวิศวกรรมเพราะเป็นงานที่ต้องอาศัยทักษะอย่างมากในการผลิต. ตัวอย่างงานผลิตตามใบสั่ง เช่น แม่พิมพ์, งานซ่อมบำรุง เป็นต้น.

2.แผนการผลิตแบบต่อเนื่องหรือจำนวนมาก (Mass Production Planning)
การวางแผนการผลิตแบบต่อเนื่องหรือการผลิตแบบจำนวนมาก มีการนำมาใช้หลากหลายในปัจจุบัน มีจำนวนสินค้าน้อยชนิดแต่ผลิตครั้งละจำนวนมากๆ มีลักษณะความต้องการที่ที่แน่นอนตามแนวโน้มซึ่งต้องอาศัยการพยากรณ์ที่แม่นยำด้วยเช่นกัน. โดยส่วนมากแล้วการผลิตแบบต่อเนื่องนี้จะมีการวางแผนการผลิตเพื่อเก็บเป็นสต็อกเพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าตามแผนการส่งมอบต่อไป.
เครื่องจักรที่ใช้ในการผลิตแบบต่อเนื่องหรือจำนวนมากนั้นจะใช้เครื่องจักรเฉพาะทางซึ่งสามารถผลิตได้ครั้งละจำนวนมากๆ คุณภาพแม่นยำ แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงการลงทุนอย่างรอบรอบเนื่องจากเครื่องจักรมีราคาแพง ส่วนแรงงานก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์และสายการผลิต บางสายการผลิตก็จะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติเป็นส่วนมากทำให้ใช้แรงงานน้อยอาจจะเหลือเฉพาะผู้ควบคุมเครื่องจักร, พนักตรวจสอบคุณภาพเป็นต้น. บางสายการผลิตที่ต้องอาศัยฝีมือแรงงานเป็นหลัก เช่น สายงานประกอบที่ต้องอาศัยความประณีตของฝีมือ ก็อาจจะต้องใช้แรงงานจำนวนมากด้วยเช่นกันขึ้นอยู่กับแผนการผลิตในการจัดสรรปัจจัยด้านแรงงาน.
ความสำคัญของการจัดการสายการผลิตแบบต่อเนื่องก็คือ การจัดความสมดุลของแต่ละหน่วยผลิต ต้องมีขนาดเท่ากัน ซึ่งหมายถึงทั้ง มีระยะเวลาในการผลิตเท่ากันหรือมีจำนวนการผลิตที่พอดีต่อความต้องการของหน่วยการผลิตถัดไป จะต้องไม่เกิดคอคอดหรือจุดชะงักในการผลิตที่จุดใดจุดหนึ่ง หรือถ้าเกิดแล้วต้องมีการจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีไม่ให้การผลิตหยุด.
ข้อดีของการผลิตแบบต่อเนื่องคือ สามารถวางแผนการผลิตได้แม่นยำกว่าการวางแผนการผลิตแบบสั่งทำเนื่องจากสามารถคำนวณหาวเลามาตรฐานแต่ละขบวนการได้แม่นยำกว่า อีกทั้งชนิดของผลิตภัณฑ์ไม่มาก ผลิตครั้งละนานๆ ทำให้มีเวลาเพียงพอในการเตรียมการและจัดทำมาตรฐานต่างๆ, แรงงานก็ไม่ต้องอาศัยทักษะที่สูงมากนักยกเว้นหน่วยงานด้านเทคนิค  ส่วนข้อเสียก็คือ ราคาสินค้าต่อหน่วยค่อนข้างถูก การผลิตเมื่อเกิดงานเสียหากไม่มีการป้องกันและควบที่ดีส่วนมากจะเสียทั้ง Lot การผลิตเนื่องจากการผลิตมีความรวดเร็วและต่อเนื่อง
การวางแผนการผลิตแบบต่อเนื่องนี้ส่วนมากจะใช้กับสายงานประกอบหรือผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาด เช่น รถยนต์, เครื่องใช้ไฟฟ้า, สินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น.
การเลือกใช้แผนการผลิตที่เหมาะสมนั้นไม่ได้มีมาตรฐานกำหนดตายตัว ขึ้นอยู่กับลักษณะของผลิตภัณฑ์, ต้นทุนการผลิต, กระบวนการผลิต, เครื่องจักร และปัจจัยการผลิตต่างๆ สุดท้ายนั้นก็จะอยู่ที่การตัดสินใจของผู้บริหาร. 



หน่วยงานวางแผนการผลิต (Production Planning Department)
หน่วยงานวางแผนการผลิตมักจะถูกจัดให้รวมอยู่กับหน่วยงานควบคุมการผลิต(Production Control Department) เนื่องจากลักษณะของงานมีความต่อเนื่องและต้องทำควบคู่กับอยู่ตลอดเวลา หลายๆ บริษัทจึงพบว่ามีหน่วยงาน วางแผนและควบคุมการผลิต(Production Planning & Control) ซึ่งทำหน้าที่ตั้งแต่รับใบสั่งซื้อจากฝ่ายขายหรือประมาณการจากการพยากรณ์, เตรียมวัสดุและอุปกรณ์ให้เพียงพอการผลิต จัดสรรปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น บุคลากร(Man), เครื่องจักร(Machine), วัสดุ(Material) และวิธีการทำงานและมาตรฐานต่างๆ(Method)  พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาในการผลิตของหน่วยต่างๆ ลงในแผนการผลิต  หลังจากนั้นก็จะมีการเผ้าติดตาม อัพเดตผลการผลิตจริงเปรียบเทียบกับการผลิตตามช่วงเวลาต่างๆ ที่กำหนด.
หน่วยงานวางแผนการผลิต สามารถแบ่งออกได้ตามลักษณะของงานดังนี้
1.จัดทำงบประมาณในการผลิต
ก่อนทำการผลิตต้องมีการประมาณงบประมาณ, ต้นทุนในการผลิต เพื่อให้มั่นใจว่าต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่เตรียมการผลิตจนถึงส่งมอบผลิตภัณฑ์ให้กับลูกกค้า อยู่ภายใต้งบประมาณที่กำหนดไว้ตามสัดส่วนต่างๆ

2.กำหนดรายการวัสดุ
การกำหนดรายการวัสดุ หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า BOM (Bill Of Material) เป็นการจัดทำรายการวัสดุที่ต้องใช้ในกระบวนการผลิต

3.วางแผนกระบวนการ
การวางแผนกระบวนการ เป็นการกำหนดกระบวนการผลิต, ลำดับของกระบวนการต่างๆ ในการผลิต โดยวิศวกรกระบวนการจะทำหน้าที่ในการวิเคราะห์กระบวนการต่างๆ ให้เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์และการทำงาน เพื่อให้ประบวนการมีประสิทธิภาพสูงสุด.

4.หารายละเอียดของเครื่องจักร
รายละเอียดของเครื่องจักรมีความจำเป็นต่อหน่วยงานวางแผนการผลิตมาก  เจ้าหน้าที่วางแผนการผลิตต้องรู้รายละเอียดของเครื่องจักรแต่ละเครื่องเป็นอย่างดี เช่น มีเครื่องจักรอะไรบ้างอยู่ในโรงาน, มีจำนวนกี่เครื่อง, กำลังการผลิตแต่ละเครื่องเท่าไหร่?, ประสิทธิภาพของเครื่องจักรแต่ละเครื่องเป็นอย่างไร รวมไปถึงแผนการซ่อมบำรุงรักษาเครื่อง(Maintenance Plan) , ประวัติการเสียของเครื่องจักร เป็นต้น.

5.ออกแบบอุปกรณ์จับยึด
อุปกรณ์จับยึด (Jig and Fixture) เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น, เร็วขึ้น และมีคุณภาพที่ดีขึ้น เช่น อุปกรณ์ช่วยในการปรับตั้งชิ้นงานบนเครื่องจักร, อุปกรณ์จับยึดชิ้นงานบนเครื่องจักร.

6.การกำหนดเวลามาตรฐานในการผลิต
ในการวางแผนการผลิตจำเป็นต้องรู้เวลามาตรฐานของกระบวนการต่างๆ ยิ่งเวลามาตรฐานแม่นยำเท่าไหร่จะทำให้สามารถวางแผนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น. ในการกำหนดเวลามาตรฐานมีวิธีการมากมาย ตั้งแต่การจับเวลา, การประมาณเวลา, การนำข้อมูลการผลิตที่ผ่านมามาประเมินหาเวลามาตรฐาน
7.การกำหนดตารางการผลิต
ตารางการผลิตเป็นการกำหนดระยะเวลาในการการผลิต/ประกอบในหน่วยการผลิตต่างๆ โดยมีเวลามาตรฐานในการวางแผนควบคุม. 

การจัดทำงบประมาณในการผลิต

ในการจัดทำงบประมาณในการผลิตผู้ทำจะต้องมีความเข้าในในกระบวนการและการวางแผนการผลิตเพราะว่า งบประมาณในการผลิตหรือต้นทุนในการผลิตนั้นจะแตกต่างออกไปจากต้นทุนประเภทอื่นๆ เช่น การซื้อมาขายไป. งบประมาณในการผลิตเป็นต้นทุนที่เกิดขึ้นตั้งแต่การรับใบสั่งซื้อมาจากลูกค้าและแผนกขาย จะต้องมีการแจกแจงงบประมาณด้านต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยส่วนหลักๆ คือ ต้นทุนวัสดุ ซึ่งสามารถดูได้จากใบรายการวัสดุ (BOM), ต้นทุนด้านแรงงานโดยจะแยกออกตามกระบวนการต่างๆ และเวลาในการผลิต เช่นเดียวกับต้นทุนด้านสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำ ที่ใช้ในกระบวนการผลิต ที่เหลือก็จะเป็นค่าใช้จ่ายแรงงานและค่าโสหุ้ยต่างๆ. การจัดทำงบประมาณการผลิตจะต้องทำอย่างรอบคอบเนื่องจากจะไปส่งผลต่อกำไรและราคาขายผลิตภัณฑ์ เช่น หากเราตั้งงบประมาณการผลิตต่ำกว่าต้นทุนจริงก็จะทำให้กำไรลดลงหรือขาดทุน หากเราตั้งงบประมาณการผลิตสูงเกินไป ราคาขายก็จะสูงขึ้นอาจจะส่งผลต่อการกำหนดราคาขายและปริมาณการสั่งซื้อของลูกค้า.

ปัญหาในการจัดทำงบประมาณในการผลิตและการแก้ไขปัญหา
แผนการผลิตที่ไม่แม่นยำส่งผลให้งบประมาณการผลิตที่ไม่คลาดเคลื่อน โดยเฉพาะแผนการผลิตแบบสั่งทำ การแก้ปัญหาสามารถทำได้โดยปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ทบทวนแผนการผลิตอยู่เสมอ เนื่องจากบางครั้งกระบวนการผลิตมีการปรับเปลี่ยนบ่อยตามหน้างาน รวมถึงเข้มงวดให้พนักงานบันทึกผลการปฏิบัติงานอย่างจริงจังก็จะทำให้ได้รับข้อมูลที่ใกล้เคียงกับค่าใช้จ่ายจริงมากขึ้น.
การจัดทำงบประมาณการผลิตมีความล่าช้า เนื่องจากบางครั้งต้องรอข้อมูลจากฝ่ายวางแผนการผลิต ซึ่งอาจจะเกิดจากเป็นงานที่มีลักษณะพิเศษทำให้การวางแผนการผลิตมีความยาก สามารถแก้ไขปัญหาได้โดย การจัดทำมาตรฐานของงานโดยแบ่งออกตามลักษณะของงานที่มีความใกล้เคียงกัน ผู้ที่จัดทำงบประมาณในการผลิตก็สามารถนำงานที่มีความใกล้เคียงการมาประมาณการงบประมาณในการผลิตได้.
การคำนวณต้นทุนการผลิตสามารถดูได้จาก
http://production-cost.blogspot.com/p/blog-page_2.html



ขั้นตอนการวางแผนการผลิต

1.จัดทำแผนความต้องการของลูกค้า (Customer Requirement Planning)

แผนความต้องการของลูกค้าเป็นขั้นตอนแรกของการวางแผนกการผลิต ข้อมูลความต้องการของลูกค้าอาจจะได้มาจากหลายทาง เช่น จากลูกค้าโดยตรง วิธีนี้หากสามารถหามาได้จะเป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำสูงมาก สามารถวางแผนการผลิตได้ง่าย, ข้อมูลความต้องการของลูกค้าจากการพยากรณ์ ข้อมูลประเภทนี้ต้องมีข้อมูลสนับสนุนที่ดีพอสมควรจึงจะทำให้การวางแผนการผลิตมีความแม่นยำ ต้องมีการวิเคราะห์ในหลายๆ รูปแบบ ซึ่งข้อมูลแต่ละประเภทก็มีความแปรปรวนที่แตกต่างกัน



2.จัดทำแผนความต้องการวัสดุ (Material Requirement Planning)
แผนความต้องการวัสดุหมายถึงการจัดเตรียม จัดหา วัสดุ,ชิ้นส่วน,วัสดุกึ่งสำเร็จ รูปให้เพียงพอต่อความต้องการในการผลิต ซึ่งสามารถประมาณการได้จากประมาณการความต้องการของลูกค้า. รายการวัสดุที่จะต้องใช้จะถูกกำหนดไว้ในบัญชีรายการวัสดุ (Bill Of Material : BOM) ซึ่งจะระบุชนิดของวัสดุและชิ้นส่วน, ปริมาณการใช้ต่อหน่วย รวมถึงข้อมูลที่จำเป็นอื่นๆ เช่น ระยะเวลาในการจัดส่งจากซัพพลายเออร์ กรณีที่มีการสั่งซื้อจากภายนอก, กำลังการผลิตภายในสำหรับกรณีที่ชิ้นส่วนเอง ซึ่งข้อมูลทั้งหมดต้องมีความชัดเจนทั้งด้านปริมาณและระยะเวลาส่งมอบ.



3.วางแผนการผลิต (Production Planning)
หลังจากที่ได้แผนความต้องการของลูกค้าและมีการเตรียมการวัสดุให้เพียงพอแล้ว ก็จะทำการวางแผนการผลิต. ซึ่งมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้



3.1วางแผนกระบวนการ (Process Planning)
การวางแผนกระบวนการเป็นกำหนดกระบวนการและลำดับในการผลิต. กระบวนการที่ดีต้องเป็นกระบวนการที่สั้นที่สุดซึ่งหมายถึงใช้เวลาในการผลิตจนกระทั่งออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูปน้อยที่สุด.


3.2วางแผนการเครื่องจักร (Machine Planning)

ในกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เครื่องหลักเป็นหลักจำเป็นต้องมีการใช้เครื่องจักรให้เกิดประโยชน์สุงสุด ตามทฤษฎีแล้วเครื่องจักรต้องทำงาน 24 ชั่วโมงทุกวัน หรือไม่มีการหยุดทำงานเลย แต่ในการทำงานจริง เวลาสูญเสียของเครื่องจักรมีหลายอย่าง เช่น หยุดเพื่อปรับตั้งชิ้นงาน, หยุดเพื่อซ่อมแซม, หยุดเพราะไม่มีงานป้อน, หยุดเพื่อตรวจสอบชิ้นงาน เป็นต้น.



3.3วางแผนด้านแรงงาน (Man Planning)
การวางแผนการแรงงานจะคล้ายๆ กับการวางแผนการใช้เครื่องจักร คือ ต้องให้กระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่องให้มากที่สุดแต่ทั้งนี้ต้องอย่าลืมกฎหมายด้านแรงงานที่กำหนดเวลาในการทำงาน การพักที่ชัดเจน ดังนั้น การวางแผนด้านแรงงานจึงยากกว่าการวางแผนเครื่องจักรหลายเท่าตัว.



3.4การวางแผนการจัดเก็บ (Store Planning)
การวางแผนการจัดเก็บ หมายถึงการวางแผนในการควบคุมวัสดุคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งหมายถึงมีเพียงพอต่อการใช้งานและไม่สูงเกินไปภายใต้ระดับที่กำหนด. การวางแผนการจัดเก็บนี้รวมถึง การวางแผนการจัดเก็บสินค้าในระหว่างผลิต, สินค้ากึ่งสำเร็จรูป, สินค้าสำเร็จรูป.
 


ความสัมพันธ์ระหว่างการวางแผนและการควบคุมการผลิตกับหน้าที่อื่นๆ ในบริษัท

หน้าที่การวางแผนการผลิตและการควบคุมการผลิตจะเป็นตัวเชื่อมประสานงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ในบริษัท เพื่อสำหรับวางแผนการดำเนินงานและการให้แผนการผลิตต่างๆ ประสบผลสำเร็จ โดยลำพังในหน่วยงานของตัวมันเองแล้วไม่อาจจะดำเนินการใดๆ ๆได้ นอกจากนี้จะได้รับการสนับสนุนจากหน้าที่อื่นๆ เช่น ฝ่ายขายหรือฝ่ายการตลาด, ฝ่ายวิศวกรรมการผลิต, วิศวกรรมอุตสาหการ, ฝ่ายผลิต ความสัมพันธิระหว่างการวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตกับหัวหน้าฝ่ายอื่นๆ นั้น พอจะสรุปได้ดังนี้

1.ความสัมพันธ์กับฝ่ายขายหรือการตลาด
การวางแผนและควบคุมการผลิต จำทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างฝ่ายผลิตกับฝ่ายขาย ดังนั้น ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบจะต้องมีความความคุ้นเคยและเข้าใจในตัวสินค้าและลูกค้าเป้นอย่างดี เพื่อที่ได้ให้ความช่วยเหลือฝ่ายขายในเรื่องของการกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งสินค้าให้กับลูกค้าหรือทำการวางแผนการผลิตเพื่อผลิตสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้าอยู่ตลอดเวลา.

2.ความสัมพันธฺกับหน่วยงานวิศวกรรมการผลิต
ผู้ที่รับผิดชอบในแผนกวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิต อาจะไม่จำเป็นต้องรู้รายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานวิศวกรรมหรือความรู้ทางด้านเทคนิคมากนัก เพราะหน่วยงานวิศวกรรมการผลิตจะเป้นฝ่ายกำหนดวิธีหรือกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดหรือตามใบสั่งทำจากลูกค้า ในทางตรงกันข้าม แผนกวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตอาจจะให้ข้อมูลต่างๆ ในเรื่องของเวลาทำงานจริงกับหน่วยงานวิศกรรมการผลิตเพื่อใช้ในการตัดสินใจในการการเลือกวิธีและกระบวนการที่ดีที่สุดสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ หรืองานสั่งทำใหม่อันจะนำมาซึ่งการปรับปรุงวิธีการผลิตที่ใช้อยู่ในปัจจุบันให้ดีขึ้น.
ในโรงงานผลิตขนาเล็ก อาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมีหน่วยงานวิศกรรมการผลิตก็ได้ ทั้งนี้เนื่อวจากว่าปริมาณการสั่งทำอาจมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ผู้จัดการฝ่ายผลิตจึงมีหน้าที่เป็นผู้กำหนดกระบวนการผลิตเอง กรณีที่เป็นการผลิตแบบต่อเนื่อง กระบวนการผลิตมักจะถูกกำหนดเป็นแบบสายงานผลิตภัณฑ์(Production Line) ไว้เรียบร้อยก่อนที่จะมีการจัดตั้งโรงงาน จึงไม่จำเป็นเป็นต้องมีหน่วยงานนี้คอยรับผิดชอบ แต่สำหรับการผลิตที่เป็นแบบตามสั่งซึ่งไม่อาจกำหนดกระบวนการไว้ก่อนล่วงหน้าได้ทั้งนี้เนื่องจากความแตกต่างในเรื่องของลักษณะงาน ขั้นตอนการดำเนินงาน ดังนั้น หน่วยงานวิศวกรรมการผลิตจึงมีความสำคัญและจำเป็นที่จะต้องมีไว้เพื่อทำหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำรายการวัสดุ (Bill Of Material : BOM) การจัดลำดับขั้นตอนการดำเนินงานในแต่ละงานสั่งทำ หลังจากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตที่จะต้องรับผิดชอบในเรื่องของการจัดหาวัสดุเพื่อให้พอต่อความต้องการ การกำหนดเวลาในการสั่งซื้อและรับวัสดุ การกำหนดภาระบนเครื่องจักรในแต่ละช่วงเวลาและภาระงานเร่งด่วนที่แทรกเข้ามาและกำลังคนที่มีอยู่ในโรงงาน เมื่อได้มีการตกลงและยอมรับงานสั่งทำใดๆ แผนกการวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตก็จะใช้รายการวัสดุและลำดับขั้นตอนการทำงานมาจัดทำแผนการผลิตและตารางการผลิตต่อไป



3.ความสัมพันธ์กับหน่วยงานวิศวกรรมอุตสาหการ

ในธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ จะมีกลุ่มวิศวกรรมอุตสาหการรับผิดชอบในด้านงานต่างๆ เช่น วิศวกรบางคนอาจจะรับผิดชอบเกี่ยวกับการวิจัย ปรับปรุงวิธีการเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนอื่นๆ อาจจะรับผิดชอบในเรื่องของการควบคุมต้นทุน เพื่อหาประสิทธิผลของการควบคุมค่าใช้จ่าย โดยทำการเปรียบเทียบต้นทุนจริงกับต้นทุนมาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ นอกเหนือจากหน้าที่ที่ได้กล่าวมาแล้ว การกำหนดเวลามาตรฐานสำหรับคนงานหรือเครื่องจักรก็เป็นหน้าที่หลักอีกอย่างหนึ่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของวิศวกรรมอุตสาหการ
การวางแผนการผลิตและการควบคุมการผลิตจะต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับวิศวกรรมอุตสาหการในเรื่องการจัดเตรียมแผนภูมิภาระงานและตารางการผลิตสำหรับขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ
ในธุรกิจอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดกลางไม่มีการจัดตั้งแผนกวิศวกรรมอุตสาหการขึ้นมาทำหน้าที่ต่างๆ  ของวิศวกรอุตสาหการ จะตำอยู่ในความรับผิดชอบของผู้จัดการฝ่ายผลิต หรือในบางโรงงานก็มีวิศวกรอุตสาหการประจำการอยู่ก็จะได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ทั้งศึกษาเวลาและกะประมาณราคา แต่ถ้าเป็นโรงงานที่ไม่มีแม้แต้ผู้ที่ทำการศึกษาเวลาอยู่เลย หน้าที่ดังกล่าวจะตกอยู่ในความรับผิดชอบของแผนกการวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตที่จะต้องกำหนดเวลามาตรฐานขึ้นมาโดยอาศัยข้อมูลเวลาการทำงานจริงจากใบรายงานการผลิต เพื่อนำไปจัดทำตารางการผลิตแต่ละขั้นตอนการดำเนินงาน นอกจากนั้น แผนกการวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิตอาจจะถูกร้องขอให้ทำรายงานเกี่ยวกับการหาประสิทธิผลในการควบคุมต้นทุนนอกเหนือจากงานในหน้าที่ต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว. 


4.ความสัมพันธ์กับหัวหน้างานฝ่ายผลิต
หน่วยงานวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิต โดยทั่วๆ ไป จะเสนอรายงานตรงต่อผู้จัดการฝ่ายผลิต สำหรับในกรณีที่มีการพัฒนาแผนการผลิต ผู้รับผิดชอบในการวางแผนการผลิตอาจจะขอความเห็นจากหัวหน้างานฝ่ายผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องเกี่ยวกับกระบวนการผลิตที่ต้องใช้เทคโนโลยีสูงๆ เช่น การหล่อโลหะ เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อขจัดปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากความไม่เข้าใจกันในเรื่องของวัตถุประสงค์ และลำดับขั้นตอนของการวางแผนการผลิตที่ได้ปรับปรุงใหม่หรือเปลี่ยนแปลงใหม่
ในการควบคุมการผลิต หน่วยงานวางแผนและควบคุมการผลิต จะยึดถือรายงานตามที่ได้รับเข้ามาในแต่ลัวนหรือสัปดห์ จากหน่วยผลิตต่างๆ และจะสรุปผลออกมาเพื่อดูว่ามีงานไหนบ้างที่จำเป็นต้องมีการติดตาม หรือว่างานของหน่วยงานใดที่จะต้องเร่งทำให้เสร็จโดยเร็ว ต่อจากนั้นจึงจทำรายงานเสนอต่อไปยังผู้จัดการฝ่ายผลิต ฝ่ายขาย และผู้บริหารระดับสูง เพื่อให้ได้รับทราบถึงสถานะต่างๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลา.
เพื่อให้การวางแผนและควบคุมการผลิต เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในเชิงปฏิบัติ จึงน่าที่จะได้มีความร่วมมือร่วมใจกันทั้งฝ่ายวางแผนและฝ่ายปฏิบัติการ กล่าวคือ ฝ่ายวางแผนการผลิตมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือในด้านการวางแผนและประสานงานซึ่งเป็นหน้าที่ปกติอยู่แล้ว ส่วนเรื่องการควบคุมการปฏิบัติงาจริง จะอยู่ในความรับผิดชอบของหัวหน้าฝ่ายผลิต เพราะเป็นผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับงานและผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งจะรู้ถึงปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และสามารถให้ความเห็นหรือแนวคิดในการปรับปรุงให้การควบคุมการผลิตมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานวางแผนการผลิตและควบคุมการผลิต ดังนั้น ความร่วมกันเป็นอย่างดีระหว่างสองหน่วยงานนี้ ย่อมจะก่อให้เกิดประโยชน์ไม่เพียงแต่การวางแผนการผลิตและการควบคุมการผลิตเท่านั้น แต่ยังมีผลในด้านจิตวิทยาต่อการยอมรับจากหัวหน้างานที่มีต่อแผนต่างๆ อีกด้วย.
 
 
 

1 comment:

  1. ดีมากเลยครับ ขอแชร์นะครับ

    ReplyDelete