Saturday, October 12, 2013

ส่วนประกอบของต้นทุนการผลิต


แนวคิดเกี่ยวกับต้นทุนการผลิต

ต้นทุนการผลิต คือ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในกระบวนการผลิต เช่น  ค่าแรงหรือเงินเดือน, ค่าวัสดุ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ผลิตภัณฑ์. ต้นทุนในการผลิตไม่ได้หมายถึงเพียงค่าใช้จ่ายเฉพาะฝ่ายผลิตเท่านั้น แต่รวมถึงกระบวนการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกันโดยตรง เช่น ค่าไฟฟ้า, ค่าน้ำ, ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบคุณภาพ เป็นต้น

ส่วนประกอบของต้นทุนการผลิต
ต้นทุนในการผลิตประกอบด้วย

ต้นทุนในการผลิต  ค่าวัสดุ + ค่าแรงงาน + ค่าโสหุ้ย



1. ต้นทุนวัสดุ (Material Cost)

วัสดุหรือวัตถุดิบเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการผลิตโดยตรง โดยทั่วไปแล้ววัตถุดิบแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน คือ วัตถุดิบทางตรงและวัตถุดิบทางอ้อม

   1.1 วัตถุดิบทางตรง (Direct Material Cost)

วัตถุดิบทางตรงจะเป็นส่วนประกอบหลักของผลิตภัณฑ์ ปริมาณการใช้งานจะแปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง เช่น วัตถุดิบทางตรงของยางรถยนต์ คือ ยางพารา, วัตถุดิบทางตรงของน้ำดื่มบรรจุขวด คือ น้ำเปล่าและขวดพลาสติก เป็นต้น.

    1.2 วัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Material Cost)

วัตถุดิบทางอ้อม เป็น วัสดุประกอบการผลิตหรือสนับสนุนการผลิต เช่น ผ้าเช็ดมือ, สกรู, น้ำมันหล่อเย็น, น้ำยาทำความสะอาดเป็นต้น. ต้นทุนการผลิตวัตถุดิบทางอ้อมจะไม่แปรผันกับการผลิตโดยตรง. นอกจากนี้ต้นทุนการของวัตถุดิบทางอ้อมบางครั้งก็ถูกจัดให้เป็นค่าโสหุ้ยได้เช่นกัน.
ในบางครั้งการจำแนกต้นทุนการผลิตของวัตถุดิบระหว่างต้นทุนทางตรงและต้นทุนทางอ้อมอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงได้ตามนโยบายด้านต้นทุนของแต่ละบริษัท เช่น มีดกลึง บางครั้งก็ถูกจัดให้เป็นต้นทุนทางตรง และบางครั้งก็ถูกจัดให้เป็นต้นทุนทางอ้อมได้.

2. ต้นทุนแรงงาน (Labor Cost)

ต้นทุนแรงงานเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับค่าแรงงานที่ใช้กระบวนการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสภาพของวัตถุดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์. ต้นทุนแรงงานก็คล้ายกับวัตถุดิบในการผลิตที่มีทั้ง ต้นทุนแรงงานทางตรง และต้นทุนแรงงานทางอ้อม

    2.1 ต้นทุนแรงงานทางตรง (Direct Labor Cost)

ต้นทุนแรงงานทางตรง เป็นต้นทุนค่าแรงงานพนักงานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตโดยตรง เช่น ค่าแรงพนักงานควบคุมเครื่องจักร, ค่าแรงพนักงานในกระบวนการประกอบชิ้นงาน ต้นทุนการผลิตค่าแรงทางตรงจะแปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง.

    2.2 ต้นทุนแรงงานทางอ้อม (Indirect Labor Cost)

ต้นทุนแรงงานทางอ้อม เป็นต้นทุนการผลิตที่ไม่ได้แปรผันกับปริมาณการผลิตโดยตรง เช่น เงินเดือนพนักงานออฟฟิต, เงินเดือนวิศวกร, เงินเดือนผู้จัดการ เป็นต้น.

3. ค่าโสหุ้ย (Overhead)

ค่าโสหุ้ยหรือค่าใช้จ่ายโรงงาน เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นนอกเหนือจากค่าวัตถุดิบและค่าแรงงาน เช่น ค่าสาธารณูปโภค, ค่าซ่อมบำรุง, ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด, ค่ารถรับ-ส่งพนักงาน, ค่าภาษี เป็นต้น.



No comments:

Post a Comment