ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนว่าต้นทุนวัสดุเป็นส่วนประกอบหลักของต้นทุนการผลิตและมีสัดส่วนที่สูง
ดังนั้นการควบคุมต้นทุนวัตถุดิบจึงต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพ.
วัสดุสามารถแบ่งตามลักษณะของกระบวนการและการควบคุมได้ดังนี้
1.วัตถุดิบและวัสดุใช้สอย (Raw Material and Consumable Products)
วัตถุดิบเป็นวัสดุทางตรงที่มีผลต่อต้นทุนการผลิตเป็นอย่างมาก
การควบคุมต้องเน้นทุกกระบวนการ เช่น
กระบวนการสั่งซื้อต้องมีการประมาณการที่แม่นยำจากฝ่ายขาย
การเก็บวัตถุดิบที่มากเกินไปทำให้เกิดต้นทุนจมหรือต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดผลผลิต
เช่น ค่าวัตถุดิบที่ไม่ได้ใช้งาน, ค่าเก็บรักษา, ค่าเสียโอกาส,
ความแตกต่างของค่าเงิน, ดอกเบี้ย เป็นต้น.
สำหรับในกระบวนการผลิตต้องมีการควบคุมไม่ให้เกิดงานเสีย ซึ่งจะเกิดต้นทุนการผลิตซ้ำ
ทั้งค่าวัตถุดิบ, ค่าแรงงาน, ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เป็นต้น.
2.งานระหว่างทำ (Work In Process : WIP)
งานระหว่างทำหรือ
WIP เป็นงานอยู่ในระหว่างกระบวนการที่ยังผลิตไม่เสร็จ
แยกเป็นต้นทุนการผลิตในส่วนของค่าเก็บรักษา, ค่าเสียโอกาส เช่น เมื่อมีการถูกป้อนเข้าไปในกระบวนการผลิตมากเกินความจำเป็นหรือมากกว่ากำลังการผลิตของกระบวนการถัดไปอันเกิดมาจากการวางแผนและการควบคุมกระบวนการที่ขาดประสิทธิภาพ
ก็จะเกิดงานคงค้างในกระบวนการผลิตที่ยังไม่สามารถทำให้เป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปได้ ณ
ตอนนั้น ทำให้เกิดต้นทุนการผลิตในส่วนของงานระหว่างทำขึ้นมา.
ต้นทุนงานผลิตส่วนนี้จะมากหรือน้อยอยู่ที่ความสมดุลของการผลิตและการขาย.
3.ชิ้นส่วนประกอบและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป (Semi Product/Part and Finish Goods)
ชิ้นงานเมื่อถูกผลิตเสร็จก็จะถูกส่งเข้าไปเก็บยังคลังสินค้าในกรณีที่ยังเป็นชิ้นส่วนอยู่เรียกว่า
ผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป (Semi Product) และผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป(Finish Goods). สำหรับ Semi Product บางครั้งอาจจะไม่ได้ผลิตเอง อาจสั่งซื้อจาก Supplier
เข้ามาเก็บสต๊อกเพื่อรอการประกอบเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปก็ได้.
การควบคุมต้นทุนการผลิตของผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปนั้นก็คล้ายกับการควบคุมงานระหว่างทำ
โดยการกำหนดระดับสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถ้ามากเกินไปก็จะเป็นต้นทุนจมในส่วนของการจัดเก็บรักษา,
ต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่ก่อให้เกิดผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปขึ่นมา ส่วนถ้ามีน้อยเกินจะก็จะเกิดต้นทุนเสียโอกาสในการขายสินค้าขึ้นมา
รวมทั้งเมื่อสต๊อกขาดหรือมีปริมาณไม่เพียงพอกับความต้องการของลูกค้า
ต้องเร่งในกระบวนการผลิต ทำให้ต้นทุนการผลิตอื่นๆ เพิ่มขึ้นมาอีก เช่น
ค่าทำงานล่วงเวลาของพนักงานฝ่ายผลิต, ค่าสั่งซื้อวัตถุดิบหรือชิ้นงานในกรณีเร่งด่วนอาจทำให้มีราคาสูงขึ้น
เป็นต้น
No comments:
Post a Comment